Special : "How to สร้างตัวตนออนไลน์ให้ชีวิตและธุรกิจด้วย Social Media !"
ผมชอบกระทู้นี้, ว่าด้วยผู้ชายคนหนึ่งที่ “ทำงานมาตั้งนานยังเป็นแค่พนักงานระดับปฏิบัติการ [แต่ไม่ค่อยสนใจหรอกเพราะมันเป็นแค่หัวโขน]” กับปมในใจที่ว่า “ทำไมเวลาผมวิเคราะห์อะไรออกมามันก็ดูกระจอกจนผู้บริหารเขาส่ายหัว”
และ “ทั้งที่ผมก็อ่านหนังสือเล่มนั้นฟัง Podcast ช่องนี้แต่พอวิเคราะห์อะไรออกมาก็กระจอกเหมือนเดิม”
ผมเคยเขียนเรื่องคล้ายกันไปทีว่า “เด็กจบใหม่จงเลือกงานให้มาก”, อย่าเชื่อพวกที่ว่า “งานอะไรก็ได้ทำๆ ไปก่อน”
เพราะ “งานแรกที่เราทำ” มันจะส่งผลมหาศาลต่อทั้งประสบการณ์ / ฐานเงินเดือน / ความก้าวหน้าและอีกสารพัด
รวมทั้ง “ความกระจอกตลอดชีวิต” ด้วย
เพราะการมีคนรอบข้างที่ห่วย, ทำให้คุณไม่มี Case Study ที่ดีในชีวิต
นี่ผมเขียนจากประสบการณ์ในฐานะคนไม่เก่ง [ยืนยันว่านี่ไม่ได้ถ่อมตัว] แต่ผมเองทำงานหาค่าห้องค่าเทอมมาตั้งแต่ปีสอง [ไม่ได้เกิดมาคาบบัตรทอง Starbucks อย่างที่หลายคนเข้าใจ] และนั่นก็ทำให้ผม “ได้ทำงานกับคนอายุเยอะกว่ามาตลอด”
เด็กปีสองทำงานกับระดับ Manager, ขึ้นปีสี่ก็คุยกับพวก MD
และด้วยความเป็น Blogger, ที่สมัยนั้นถูกยกว่าเป็น “สื่อใหม่” ก็ยิ่งทำให้บางครั้งมีเจ้าของบริษัทหรือ CEO มาคุยตรง
แต่ละเจ้าก็เป็น Brand ระดับ Top 10 ของประเทศหรือ Top 100 ของโลก
สิ่งที่ผมได้ในช่วงวัย 2x ปีก็คือประสบการณ์และ Case Studies มหาศาลจากคนที่ “เห็นมามากกว่าผม [มากๆ]”
ที่แปลกคือสมัยนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งเหล่านี้มัน “เก็บสะสมได้”, จนวันหนึ่งที่ “เห็นผล” ตอนทำธุรกิจส่วนตัว
ถ้าอยู่ในฝูงกาก็จะกลายเป็นกา, ถ้าอยู่กับพญาอินทรีก็จะเป็นพญาอินทรี [ในรูปนี่นก Phoenix เลย]
คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากประสบการณ์, แม้หลายคนอาจรับไม่ได้ก็ตาม
นี่ก็ผ่านเวลามาสิบปี, ถ้าผมเอาชื่อเพื่อนในรุ่นมาเรียงกันจะเห็นความต่างอย่างชัดเจนระหว่างคนที่ “ได้งานแรกดีๆ ในบริษัทต่างชาติใหญ่ๆ ที่ทำงานเป็นระบบ” กับคนที่ “งานอะไรก็ได้ทำๆ ไปก่อนแล้วก็ต้องเจอแต่มนุษย์ป้าขี้อิจฉาด่ากันเองในบริษัท”
การทำงานกับคนเก่ง [หรือเอาแค่แวดล้อมด้วยคนเก่ง] มันจะทำให้เรา “ซึมซับ” บางสิ่ง
ว่าเขาคิดกันอย่างไร, ทำไมถึงคิดอย่างนั้นและมันจะต่อยอดทางไหนได้บ้าง
สิบปีผ่านมา, คนสองกลุ่มนี้จะมี “Mindset” ที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว
เอาแค่ง่ายๆ, เพื่อนผมที่เป็นคนกลุ่มแรกมักจะชอบการลงทุนและทุกๆ เดือนจะเผื่องบเรียนรู้นั่นโน่นนี่เพิ่มเสมอ
ที่แปลกคือคนกลุ่มนี้มักจะ “มองโลกในแง่ดี” ทั้งที่การทำงานต้องแข่งขันสูง, ตรงกับข้ามกับคนกลุ่มหลังที่รู้สึกว่า “การลงทุนหรือการสัมมนาใดๆ ล้วนหลอกลวง” และที่ประหลาดสุดคือคนกลุ่มหลังมักจะชอบพูดย้ำๆ ว่า “ไม่สนใจเรื่องเงินทองหรือตำแหน่งหรอก”
แต่ลึกๆ มักจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าตัวเอง “กระจอก”
สุดท้ายก็กลายเป็นพวกขี้อิจฉา, หรือไม่ก็ซึมเศร้า
ผมเห็นกระทู้แนะนำอันนี้ใน Pantip, ก็เลยนึกภาพออก
[แต่แน่นอน, ผมก็ไม่ได้จะบอกว่า Case นี้มันต้องเกิด 100% หรือเจ้าของกระทู้ต้องเป็นแบบนั้น]
หงส์อาจเป็นหงส์อยู่ตลอดแม้อยู่ในฝูงกา [แต่ผมก็นึกไม่ออกอยู่ดีว่าแล้วจะไปอยู่ทำไม]
ตรงกันข้าม, วันหนึ่งแม้จะพบว่าเราเป็นพญาอินทรีไม่ได้แต่ก็จะเป็นนกกระจอกที่เก่งที่สุดในหมู่นกกระจอกด้วยกัน
นึกๆ ไป, นิสัยหนึ่งที่ผมติดมาก็เช่น “การอ่านหนังสือ [รวมทั้งการดูข่าว & สารคดี] ภาษาอังกฤษ” เพราะคนที่ทำงานด้วย “เป็นแบบนั้น” จนปัจจุบันก็ “ชิน” กับการรับสื่อต่างชาติซึ่งก็แน่นอนว่าข้อมูลส่วนใหญ่จะ “ไวกว่าไทยเพราะไม่ต้องรอแปล”
[เคยมีคนแนะนำให้อ่านหนังสือแนว “สาวเมืองใหญ่ติงต๊อง” ด้วยเพราะมันใช้ภาษาที่คุยจริงๆ ในชีวิตประจำวัน]
นี่ยังไม่นับเรื่อง “ฐานเงินเดือน”
เวลาย้ายงาน, คนที่ “เริ่มต้นด้วยฐานเงินเดือนสูง” จะ “กระโดดได้ไว” และมีแนวโน้มที่จะถูก “ซื้อตัว”
เพื่อนผมคนไหนที่ Start บริษัทแรกด้วยค่าหัวที่ดี, พออายุสามสิบปีก็มักจะมี Annual Income หลักล้าน
และพอฐานรายได้ตัวเองมันสูงก็อยู่สบาย, มักจะเหลือเงินมาให้การลงทุนต่อยอดหรือการสัมมนา
พอเวลาผ่านมาสิบปี, คนที่แวดล้อมด้วยคนเก่งจะมี “วิธีคิด” ที่ต่างอย่างมากจนคนหนึ่งอาจรู้สึกเลยว่าตน “กระจอก”
มันก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เราจะเป็น “คนกระจอก” หรือ “ไปไม่ถึงไหน” ในขณะที่เพื่อนๆ ในรุ่นเขาทิ้งห่างหากเรา “ต้องการเป็นแบบนั้นจริงๆ” เพราะผมก็รู้จักหลายคนที่เขา “เลือกจะไม่โตด้านธุรกิจ” แต่อยากมีชิวิตที่ “ทำงานเพื่อสังคม” ให้กับเด็กๆ ยากไร้
ฝากไว้สำหรับใครที่กำลังจะเริ่มงานใหม่ชีวิตใหม่, ไปอยู่ในจุดที่ดีแล้วเราจะยิ่งมีแต่โตง่ายครับ