Special : สมัครบัตร Amex วันนี้ฟรีตั๋วชั้นธุรกิจสู่ญี่ปุ่น 3 ใบ ! > "Click"
--------------------------
ไม่มีแผนที่ไร่บุญรอด, ไม่กล่าวถึงรูปปั้นสิงห์สีทองและไม่ขอลงภาพต้นชา ทว่า Blog นี้มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเล่ามากกว่า เกี่ยวกับ “เสาวรส” หรือ “Passionfruit” ในภาษาอังกฤษ ที่คนไทยไม่ว่าใครก็คงคุ้นเคยกันดี
ใน Supermarket บนถนนสุขุมวิท, แค่บิดฝาขวด เราก็มีน้ำเสาวรสคุณภาพดีให้สดชื่นได้ตลอดเวลา
แต่ผมไม่เคยรู้ว่า “ต้นกำเนิดของเสาวรส” นั้น, มันข้ามท้องฟ้ามาจากดินแดนแสนไกล ถึง America
การมาไร่บุญรอด [Singha Park Chiang Rai] ครั้งนี้, โชคดีได้พบกับชายคนหนึ่งซึ่งเคยทำงานโครงการหลวงมาครึ่งชีวิต
ย้อนกลับไปสู่ปี 1969, สมัยที่ชาวเขายังปลูกฝิ่นในเมืองไทย…
ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังดอยปุย, และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปลูกพืชทดแทน “ฝิ่น”
ด้วยเงินส่วนพระองค์และการบริจาคเพิ่มเติม
ในที่สุด, ปี 1994 ทางสหประชาชาติก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณในการแก้ปัญหายาเสพติด
ไม่มีการกวาดล้างและไม่มีความรุนแรง
ในหลวงทรงใช้วิธี “นำผักผลไม้เมืองหนาวมาปลูกในพื้นที่ฝิ่น”, ในชั้นต้น มันคือการลองผิดลองถูกด้วยซ้ำ
[40 ปีผ่านไป, ปัจจุบันฝรั่งเรียกแนวคิด “ธุรกิจเพื่อพัฒนาสังคม” แบบนี้ว่า “The Social Enterprise“]
และ “เสาวรส” หรือ “Passion Fruit” ก็คือหนึ่งในผลไม้ที่ถูกนำข้ามฟ้ามาจาก America ใต้, นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไทยบางคนจึงเรียก “เสาวรส” ว่า “กะทกรกฝรั่ง” ครับ
ชายชื่อ “สมสิน สิงขรัตน์” คนนี้ละครับที่สละเวลามานั่งเล่าเรื่องราวการกำเนิดของ “ไร่เสาวรส” ในไทย
และจากวันนั้น…
จนถึงวันนี้, ไม่น่าเชื่อว่าแม้เราจะมีไร่เสาวรสมากแค่ไหน ก็ยังไม่พอกับความต้องการบริโภคน้ำเสาวรสในประเทศ
ทั้งจากไร่โครงการหลวงและไร่บุญรอดที่อยู่ใกล้ๆ กัน
ปัจจุบัน ไม่มีฝิ่นในดินแดนชาวเขาอีกแล้ว
ที่ไร่บุญรอดเองก็มีไร่เสาวรสคุณภาพดีขนาดใหญ่, มีการวางระบบน้ำลำเลียงเป็นท่อให้นักท่องเที่ยวชม แต่ทว่า “ไร่เสาวรสใหญ่” ที่เห็นนี้ ก็ยังเป็นแค่ “ไร่เล็ก” เท่านั้น
หากใครอยากชม “ไร่เสาวรสใหญ่จริงของบุญรอด” จะต้องขับรถขึ้นเขาไปอีก 80 km, สู่ “ไร่แม่สรวย”
ยังแปลกใจตัวเองเหมือนกันครับว่า ผมจะตามรอยเสาวรสไปไกลได้ขนาดนี้…
ที่สถานีทดลองหมายเลข 1 ของไร่บุญรอด, มีภาพในหลวงเก่าๆ ตั้งเด่นอยู่หน้ากระท่อมไม้หลังเล็กๆ
แม้จะเป็นภาพที่ดูแล้วผ่านวันเวลามาเนิ่นนาน
แต่ก็มีพาน, ดอกไม้และถ้อยคำว่า “ทรงพระเจริญ” อยู่ด้านล่าง
ผมได้พบกับเจ้าของสวนเดิมที่ตอนนี้ทางบุญรอดจ้างให้ดูแล “ไร่เสาวรส” ด้วยความรักและความตั้งใจ, แกขับรถกระบะ 4WD ลุยเข้าไปในไร่ แล้วก็ชี้ให้ดูว่า ทางไร่บุญรอดต้องทำท่อทดน้ำขึ้นมาบนเขานี้อย่างไร
ปุ๋ยที่ใช้ “ปรุงเสาวรส” ในไร่แม่สรวยก็นำมาจาก “กากเบียร์”, เพื่อเสริมให้มัน “เลิศรส” สมดังชื่อผลไม้ชนิดนี้
บวกกับแสงแดด / ก้อนเมฆบนฟ้าและพระมหากรุณา, ที่พาเอา “Passion Fruit” ข้ามซีกโลกมา
ในที่สุด, เราก็สามารถปลูกเสาวรสคุณภาพดีได้ที่มุมหนึ่งของภูเขาในจังหวัดเชียงรายอย่างน่ามหัศจรรย์
ระหว่างที่ผมพยายามใช้สองมือแหวกทางเดินในคูอย่างยากลำบาก, ลุงแกก็เล่าถึงวิธีการเก็บผลเสาวรสในไร่บุญรอดอย่างภาคภูมิใจว่า “ทั้งหมดเป็นการเก็บด้วยมือคน”
แต่เราจะไม่ดึงเสาวรสลงจากต้น
ทว่า จะรอจนกว่ามันจะหล่นลงมาเอง
จากนั้นจึงค่อยๆ คัดมัน เพื่อส่งไปยังโรงงานในไร่บุญรอดใหญ่
เพื่อแปรรูปเป็น “น้ำเสาวรสบรรจุขวด” เกรดเอ
แต่กว่าจะเห็นเป็นผลเสาวรสที่คนกรุงเทพฯ ทานกัน…
7 เดือน…
จากดอกสู่ผล,
[ผมเองไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีดอก “Passion Flower” ด้วย]
เสาวรสถือกำเนิดขึ้นที่นี่
ในฐานะผลไม้จากแดนไกลที่เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของชาวไทยบนภูเขา
ช่วงเวลาที่ผมขับรถเช่าหนึ่งคันวิ่งผ่านถนนเล็กๆ เต็มไปด้วยฝุ่นเป็นระยะทางกว่า 70 – 80 km,ไกล 785 km จากกรุงเทพฯ ที่ผมใช้ชีวิตประจำวัน ระหว่างนั้นก็ถามตัวเองว่า กำลังตามหาอะไรอยู่ ?
ทำไมไม่เคยคิด ไม่เคยสงสัยว่า “เสาวรส“, ผลไม้ที่แสนจะคุ้นตาในเมืองไทยนั้น มันมาจากไหน ?
และด้วยการสานต่อแนวคิดที่คล้ายกัน,
ปัจจุบัน ทางไร่บุญรอดก็ได้นำสัตว์แปลกๆ ที่เราคนไทยไม่มีโอกาสได้เห็น เช่น “วัววาตูซี่ [Watusi Cow]” , วัวสายพันธุ์โบราณอายุกว่าหมื่นปีซึ่งมีเขาใหญ่ที่สุดในโลกจากทะเลทราย Sahara เข้ามา
โดยเปิดให้เด็กๆ ได้ชม วัววาตูซี่ ที่ว่านี้แบบฟรีๆ
เพื่อเปิดโลกทรรศน์ใหม่ๆ และไว้ให้คนไทยได้ศึกษาหาความรู้
เพราะเดิมที ไร่บุญรอดแห่งนี้ก็เคยเป็นแหล่งปลูกข้าวสำหรับทำเบียร์สิงห์ ทั้งที่จริงๆ แล้ว, การนำเข้าข้าวจากประเทศข้างเคียงมีต้นทุนต่ำกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่เพื่อให้ชาวนาชาวไร่ไทยมีรายได้เพิ่มอีกนิด
ปัจจุบัน, ที่ไร่ก็เพิ่มแปลงปลูกชาและเสาวรสเข้ามา
แต่จะเป็นที่ไร่บุญรอดหรือที่โครงการหลวง, เสาวรสก็เกิดมาด้วยความตั้งใจบางอย่าง ที่ต้องการ “พลิกฟื้น” ผืนดินไทยให้ห่างไกลอันตรายอย่าง “ฝิ่น” จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมากหากคนไทยไม่ได้ทราบที่มาว่า ผลไม้ชนิดนี้ที่ข้ามฟ้ามานั้น…
มันคือหลักฐานแทนความรักและความห่วงใย จากในหลวง ถึงปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดินฯ
2 Replies to “เสาวรสไร่บุญรอด : ผลไม้ข้ามแผ่นดินแทนฝิ่นโครงการหลวง”
Comments are closed.