Special : "How to สร้างตัวตนออนไลน์ให้ชีวิตและธุรกิจด้วย Social Media !"
เพราะ “โลกนี้ไม่มีต้นชาเขียว” แค่เพียง Blog เดียว,
ทำให้การมา Backpack ญี่ปุ่นคราวนี้, ผมตัดสินใจนั่งรถไฟ Shinkansen ออกจาก Tokyo มายัง “ชิสึโอกะ [Shizuoka / 静岡]” ซึ่งอยู่ห่างออกไป 180 Km เพื่อตามหาที่มาของ “ชาเขียวญี่ปุ่นแท้” และ “ชาเขียวญี่ปุ่นที่ดีที่สุด“
เหมือนฟ้าเป็นใจ, ผมมาถึง Shizuoka ในช่วงต้นเดือน May 2015 ซึ่งเป็นเวลาของ “Shincha [新茶]” พอดี
เราคนไทยอาจรู้จักคำว่า “มัทฉะ [Matcha / 抹茶]” และ “เซนฉะ [Sencha / 煎茶]” กันมาบ้าง
แต่ “ชินฉะ [Shincha]” หรือ”ชาเขียวแรกของปี” ที่เก็บด้วยมือในต้นฤดูและมีจำนวนจำกัดอาจยังไม่คุ้นกันสักเท่าไร !
Shizuoka ในช่วงต้นฤดูชาเขียว, ไม่ว่ามองไปทางไหนก็เห็นป้าย “Shincha [新茶]” เต็มไปหมด
ทุกไร่ชาต่างก็เก็บชาแรกฤดูออกมาขายกัน, ทั้งแบบเป็นใบและส่งให้ร้านชาใหญ่ๆ ชงสดหน้าร้าน
คำว่า “Shin [新]” ก็แปลตรงตัวว่า “ใหม่”
ส่วน “Cha [茶]” ก็คือ “ชา” ในภาษาจีน / ภาษาไทยเรานี่เอง
และเพราะว่า Shizuoka คือเมืองหลวงแห่งชาเขียวญี่ปุ่นแท้, แน่นอนว่าที่สถานีรถไฟ Shizuoka JR ก็ต้องมีจัดงาน “Shincha Matsuri [新茶まつり]” หรือเทศกาลชงชาให้ทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นได้ลองชิมกัน !
ร้านที่ผมผ่านไปที่แรกคือ “Kissa Issa [喫茶一茶]”, อยู่ใต้ตัวสถานี Shizuoka JR นี่เอง
ด้านหน้ามีป้ายแสดงรายชื่อชาเขียวแรกฤดู [Shincha] ทั้งหมดกว่า 50 รายการ !
คงเพราะว่า Kissa Issa [喫茶一茶] ตั้งอยู่ใต้สถานีรถไฟ, จึงมีชาเขียวญี่ปุ่นแบบซื้อกลับบ้าน [Take Away] ด้วยในราคาเพียง 200 – 300 Yen ทั้งแบบร้อนและเย็น ซึ่งก็สามารถเลือกชาได้หลากหลายจากผู้ผลิตชามากมาย
แต่ถ้าใครมีเวลาสักนิด
หรือคิดอยากจะลองชิม “ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ๆ” ที่เรียกว่า “แท้จริง” ยิ่งกว่าที่ไหน,
สามารถเดินเข้าไปนั่งที่ Bar เล็กๆ ในร้าน เพื่อลองทานและชมการชงชาอย่างถูกต้องตามพิธี
โดยมี “Sensei” หรือ “อาจารย์” มายืนชงชาให้เราทีละกา, ด้วยความตั้งใจ
เริ่มกันตั้งแต่การอุ่นกาใบเล็กที่จะใช้ชงชาเขียวถ้วยแรกให้เรา
เนื่องจากชาเขียวญี่ปุ่นต้นฤดูแบบ Shincha นั้น ต้องใช้น้ำร้อนที่อุณหภูมิ 70 c, มากกว่านี้จะเสียรสไป
ความละเอียดละเมียดละไม, คือหัวใจหนึ่งของการดื่มชา
Menu ชาของร้าน Kissa Issa แห่ง Shizuoka จะมีแค่ 2 แบบ 2 ราคา, 500 Yen และ 700 Yen
ซึ่งตัวชาจะเหมือนกัน, เราสามารถเลือกชาเขียวญี่ปุ่นแท้ๆ ที่เก็บใน Shizuoka ได้หนึ่งจากสามตัว โดยผู้ผลิตชาทั้งหมดจะส่งชาของตนมายัง Kissa Issa และหมุนเวียน “ชาเขียวที่ดีที่สุด” ในแต่ละช่วงฤดูกาลออกมาขาย
สิ่งที่แตกต่างกันใน Set ชาทั้งสองคือ “ขนมญี่ปุ่น [Wagashi / 和菓子]” ที่ทานคู่กัน
ซึ่งก็แน่นอนว่าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้เข้ากับชาของแต่ละเดือน
ทุกอย่างจัดมาอย่างสวยงาม, มีถ้วยชาสำหรับดื่มและกาที่ใส่ใบชาสด พร้อมกาสีขาวใบใหญ่กับกาสีน้ำตาลเข้ม
ที่แปลกใจคือ Kissa Issa มี “นาฬิกาทราย” สามสี เขียนเวลากำกับไว้ต่างกันสามช่วง ?
เพราะชาเขียวถ้วยแรกถูกชงมาอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว, ด้วยการที่ Sensei ต้มน้ำเดือด 100 c แล้วเทกลับไปมาระหว่างถ้วยสองใบเพื่อให้น้ำลดอุณหภูมิลงเหลือ 70 c พอดีสำหรับ Shincha
ทว่า ในกาดินเผาสีน้ำตาลใบใหญ่ที่ใส่น้ำร้อนมาให้นั้น, อาจยังมีอุณหภูมิสูงเกินไป !
Kissa Issa จึงมีกาสีขาวใบเล็กอีกใบ, สำหรับเทน้ำร้อน 100 c ลงมาพักไว้
และจับเวลาด้วยนาฬิกาทราย
ให้อุณหภูมิของน้ำเดือดลดลงระดับหนึ่ง
จากนั้นจึงเทน้ำที่ 70 c ลงในกาชาใบเล็กสีดำแล้วรอสักครู่
ระหว่างนั้นคือการสนทนาระหว่างเรา, เพื่อนร่วมโต๊ะและ Sensei เรื่องของชาเขียวญี่ปุ่นที่แท้จริง…
แม้แต่มีดที่ใช้ในจานขนมญี่ปุ่นก็ยังทำจากไม้ไผ่, เพื่อไม่ให้กลิ่นโลหะรบกวนรสของชาและอาหาร
ผมถือว่าราคาชาเขียว Shincha ทั้งสองแบบที่ 500 – 700 Yen มันถูกมาก !
เมื่อเทียบกับความงดงามอย่างเรียบง่ายและความหมายที่ซ่อนอยู่ในทุกขั้นตอนของพิธีชงชาครั้งนี้
เราคนไทยคุ้นเคยดีกับชาเขียวแบบซองที่เรียกว่า “Sencha” และชาเขียวผงเข้มข้นชื่อ “Matcha”
แต่ “Shincha” อาจเหนือกว่านั้น…
ในแง่รสและความสดใหม่ของใบชา
ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นจากทั่วทุกสารทิศต่างต้องหลั่งไหลมายัง Shizuoka, ซึ่งเป็นเมืองที่ปลูกชาได้มากกว่า 45% ของตลาดชาเขียวญี่ปุ่นทั้งประเทศ เพื่อดื่ม “ชาเขียวต้นฤดู” ที่ว่านี้ จนปริมาณแต่ละปีไม่พอขาย
[คนญี่ปุ่นดื่มชาเขียวทั้งแบบร้อนและเย็น, ใน Kissa Issa เองก็มีทั้งสองแบบเช่นกัน ทว่า ขั้นตอนการชง “ชาเขียวญี่ปุ่นเย็น” จะต้องเพิ่มเข้าไปอีก เพราะมีเรื่องของ “อุณหภูมิ” ที่เปลี่ยนไปยิ่งกว่าชาเขียวร้อน]
โดยสิ่งที่เหนือกว่าชาเขียวทั่วไปอีกขั้นของ “Shincha” ก็คือ ความหวานและความหอมเนื่องจากความสดใหม่
ผมเคยคิดว่าตัวเองรู้เรื่องชาเขียวญี่ปุ่นไม่น้อย
แต่เมื่อเจอกับ “ชาเขียวญี่ปุ่นที่แท้จริง” ในเมือง Shizuoka,
จึงทราบว่าผมไม่รู้อะไรเลย
ก็นึกไปถึง “น้ำเชื่อมขวดสีเขียว” ที่ขายในไทย
ยิ่งห่างไกลจากคำว่า “ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ๆ” อย่างมากมาย…
สุดท้าย, ผมก็ซื้อชาเขียวญี่ปุ่นของ “มารุเซน [Maruzen / 丸善]” ซึ่งเป็นหนึ่งในไร่ชารายใหญ่ของ Shizuoka กลับไปฝากคุณแม่ที่เมืองไทยสองห่อ ทว่า ชา Shincha ณ Kissa Issa ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ผมกำลังตามหาอยู่ดี…
แต่อย่างน้อย, ผมก็ได้เข้าใจจริงๆ แล้วว่า “ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ๆ” ไม่มีอะไรเหมือนกับ “น้ำตาลขวด” ในบ้านเราเลย