Special : สมัครบัตร Amex วันนี้ฟรีตั๋วชั้นธุรกิจสู่ญี่ปุ่น 4 ใบ ! > "Click"
--------------------------
“ผักชี [パクチー]” กำลังมาแรงสุดที่ญี่ปุ่น, ในฐานะ “อาหารไทยเพื่อสุขภาพ” จนถึงขั้นมีร้านอาหารที่ทุก Menu ทำจากผักชี / ร้านที่ชายเบียร์รสผักชี / ร้าน Ramen ที่ราดหน้าด้วยผักชีไปจนถึง “การแข่งกินจุผักชี” กันเลยทีเดียว !
คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าคนไทยชอบผักชีมาก
[ซึ่งผมไม่…]
เหมือนกับที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เข้าใจว่าบ้านเราขี่ช้างไปทำงาน [แล้วขากลับก็แวะค่ายมวย]
และตรงกันข้าม, นี่ก็คือ 4 ความเข้าใจผิดในอาหารญี่ปุ่นของคนไทยเราครับ !
4. ไม่มีคำว่า “Jung” ในภาษาญี่ปุ่น
เพราะ “จัง” เขียนว่า “Chan [ちゃん]”
เช่นการ์ตูนเรื่อง “เครยอนชินจัง” ก็ต้องเป็น “Crayon Shinchan [クレヨンしんちゃん]”
หรือ “ชิสึกะจัง” ใน Doraemon ก็ต้องเขียนว่า “Shizuka Chan [静香ちゃん]”
ส่วน “Jung” ไม่มีในภาษาญี่ปุ่น, ไม่สามารถอ่านได้และคนญี่ปุ่นมักจะเข้าใจว่าเป็น “ภาษาจีน”
ดังนั้นเวลาเห็นร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดใหม่ตามห้างที่เขียน “จัง” ด้วยคำว่า “Jung”, ผมก็จะรู้ทันทีว่า “ร้านนี้อย่าพาคนญี่ปุ่นเข้า” เพราะเจ้าของร้านไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศนี้เลยแม้แต่น้อยและมั่นใจได้ว่าคนญี่ปุ่นเองก็ไม่เข้าไปทานหรอก !
เนื่องจากคำว่า “Jung” ในภาษาญี่ปุ่นมันไม่สื่อความหมายถึงอะไรเลย…
3. สาเกไม่ได้แปลว่าเหล้าสาเก !
คนไทย [หรือแม้แต่ผมเอง] เรียกเหล้าญี่ปุ่นใสๆ ที่หมักจากข้าวว่า “สาเก [Sake]” แต่จริงๆ แล้วคำว่า “สาเก [酒]” มันหมายถึง “เหล้าทุกชนิด”, ส่วนเหล้าใสๆ ที่เราเข้าใจว่ามันชื่อสาเกนั้นต้องเรียกว่า “Nihonshu [日本酒]” ครับ
ดังนั้นถ้าเราไปร้านอาหารญี่ปุ่นเก่าๆ หรือเป็นทางการมากๆ แล้วสั่ง “เหล้าสาเก”
พนักงานจะถามซ้ำอีกครั้งว่า “เหล้าสาเกอะไร ?”
หรือไม่ก็ย้ำว่า “Sake” ในความเข้าใจของเรา [ซึ่งเป็นคนต่างชาติ] คือ “Nihonshu [日本酒]” ใช่ไหม ?
ถ้าตอบว่า “ใช่”, จึงจะได้เหล้าสาเกใสๆ ใส่ในกล่องไม้ไม่ก็จอกหิน
แต่ถ้าเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยหรือแม้กระทั่ง Izakaya, เรียกว่า “สาเก” ก็เข้าใจกันครับ
2. ร้าน Ootoya อ่านชื่อว่า “โอโทยะ”
ไม่ใช่ “ออตโตยา”
เหมือนที่เมือง “โอซากา” เขียนว่า “Oosaka [大阪]” นั่นเอง
[แต่เข้าใจได้ว่ามันดูประหลาดมาก, ปัจจุบันมันจึงถูกย่อเหลือแค่ OSaka]
เหตุผลที่ Ootoya และ Oosaka ต้องมีตัวโอ [O] สองตัวติดกันก็เพราะมันออกเสียง “โอ” ยาว, โดยตัวโอ [OO] ที่เห็นก็มาจากตัวอักษร “大” ที่แปลว่า “ใหญ่” อาทิเช่น Oosaka [大阪] ก็คือ “เขาใหญ่ [Great Hills]”
ส่วน Ootoya [大戸屋] คือ “ร้านประตูใหญ่ [Great Door Shop]”
แต่เข้าใจว่าเด็กสมัยใหม่ที่อายุ 1x – 2x ปีน่าจะเรียกชื่อร้านนี้ว่า “โอโทยะ” กันหมดแล้ว ?
1. ขนมโมจิ [Mochi / 餅] แบบ Thailand Only !
หนึ่งในขนมไทยที่เกิดจากความเข้าใจผิดอันมหัศจรรย์จนไม่รู้มันกลายเป็น “โมจินครสวรรค์” ไปได้อย่างไรเพราะคำว่า “โมจิ [Mochi / 餅]” ในญี่ปุ่นมันก็แค่ “ก้อนข้าวเหนียว” ที่ตำแล้วปั้นเป็นแท่งๆ สำหรับปรุงอาหารอย่างอื่นเท่านั้น
เช่นเอามาใส่ในน้ำแกงเป็น Ozoni [お雑煮] สำหรับทานปีใหม่
หรือไม่ก็ย่างไฟแล้วราดเครื่องปรุงพวกเต้าเจี้ยว
แน่นอนว่า “โมจิ” ที่ญี่ปุ่นไม่มีไส้และรสชาติก็ออกจืดรึไม่ก็แค่หวานนิดหน่อยจากข้าว
ผมเคยเอาขนมโมจิบ้านเราให้แฟนสาวชาวญี่ปุ่นดู, ปรากฏว่าเธอขำใหญ่
แต่พอทานเข้าไป, บอกว่า “ทำไมอร่อยจัง !”